ไลฟ์สไตล์ความรู้

แมวเป็นแผล มีหนอง รักษายังไง

แมวมักจะมีการกัดกัน จากแมวตัวอื่นที่ข้ามถิ่นมา หรือแมวละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง หรือแม้แต่แมวที่เลี้ยงอยู่ด้วยกันแท้ ๆ กินอาหารซองเดียวกัน ก็ยังกัดกันเองได้ แต่เมื่อมีการกัดกันจนได้แผล อันตรายที่สุดคือ เชื้อแบคทีเรียที่เกิดจากรอยกัด และเขี้ยวของสัตว์ที่กัดนั้นอาจมีสารพัดเชื้อติดมาด้วย โดยเฉพาะหมาแมวจรจากที่อื่น ที่ไม่รู้ที่มาที่ไป และจะมีเชื้อโรคอะไรแอบแฝงอยู่บ้าง ดังนั้น เมื่อรู้หรือเห็นว่าน้องแมวมีแผลเป็นรู มีหนอง ให้รีบพาน้องแมวไปหาสัตวแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาและให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม จากนั้นอาจพาน้องแมวไปล้างแผลกับหมอตามนัด หรือรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำแผลแมวเป็นหนอง หรือดูแลแผลและการให้ยาระหว่างแมวฟื้นตัว มารู้วิธีรักษาแผลแมวเป็นหนอง เหม็น ต้องทำอย่างไรบ้าง พร้อมกันเลยค่ะ จะได้นำไปดูแลน้องแมวที่บ้านได้อย่างถูกต้อง ก่อนที่น้องแมวจะได้รับเชื้อรุนแรง 

สิ่งที่ต้องทำเมื่อแมวมีแผล ฝีหนอง 

พาแมวไปหาสัตวแพทย์

1. มองหาแผล ฝีหนอง 

ร่างกายจะตอบสนองต่อเชื้อโรคจากรอยกัด โดยการส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย จากนั้นเนื้อเยื่อรอบแผลจะเริ่มบวมแดงและอาจเน่า ก่อให้หนองและเนื้อเยื่อที่ตายแล้ว และรอยบวมนี้อาจจะแข็งหรือนิ่มก็ได้  ส่วนอาการเจ็บของน้องแมวอาจสังเกตได้จาก การนอนซึม ไม่ค่อยร่าเริง กินอาหารน้อยลง เดินเขยก (หากเป็นแผลที่ขา) มีสะเก็ดแผลเล็ก ๆ มีหนองหรือของเหลวไหลซึมออกจากแผล 

2. พาแมวไปหาสัตวแพทย์ 

หากเป็นแผลที่มีหนองเพียงเล็กน้อย อาจทำการรักษาดูแลเองได้ที่บ้าน แต่กรณีที่เป็นแผลฝีหนองส่วนใหญ่ควรได้รับการรักษาจากสัตวแพทย์ เพื่อการรักษาที่ถูกวิธีและความปลอดภัยของน้องแมว เพราะจะได้รับการวินิจฉัย รวมถึงอาจต้องมีการฉีดยาฆ่าเชื้อที่เราไม่สามารถทำด้วยตนเองได้ อีกทั้งน้องแมวอาจมีไข้จากการที่ร่างกายต้องต่อสู้กับเชื้อโรค และถ้าหากฝีไม่เปิด อาจจะต้องมีการผ่าฝีออก และต้องใช้ยาระงับประสาทแมวเพื่อผ่าฝี 

3. ปรึกษาและขอคำแนะนำยาปฏิชีวนะรักษาแมว

สัตวแพทย์อาจจะนำหนองบางส่วนไปเพาะเชื้อ เพื่อทำการตรวจวิเคราะห์และหายาปฏิชีวนะให้สอดคล้องกับการรักษาแผลฝีหนองแมวตัวนั้น ๆ หลังจากการผ่าฝีหนอง จะต้องดูแลรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะตามที่กำหนด จึงต้องปรึกษาและขอคำแนะนำในการใช้ยา ปริมาณ และวิธีการดูแลแมวระหว่างพักฟื้น โดยจะต้องทำตามคำแนะนำจากสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้น้องแมวได้รับการรักษาอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นการป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน และถ้าหากมีปัญหาในการให้ยากับแมว ควรโทรปรึกษากับสัตวแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้ 

4. กรณีที่จำเป็นต้องใช้ท่อระบายหนอง 

บางกรณีจำเป็นที่ต้องใช้ท่อระบายหนอง เพื่อใช้เปิดแผลและท่อจะช่วยให้หนองไหลออกจากแผลได้ต่อเนื่อง ป้องกันไม่ให้หนองสะสมอยู่ในแผลจนก่อเชื้อมากขึ้นและอาจลุกลามหรือรุนแรงกว่าเดิม ซึ่งเจ้าของแมวจะต้องคอยหมั่นดูแลท่อระบายหนองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากท่อระบายหนอง และโทรหาสัตวแพทย์เมื่อจำเป็น และเมื่อสัตวแพทย์เห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะนำท่อระบายหนองออกให้ ซึ่งอาจหลังจากใส่ท่อไปแล้วประมาณ 3-5 วัน 

การดูแลและวิธีทำแผลแมวโดนกัด 

การดูแลและวิธีทำแผลแมวโดนกัด

1. ขังแมวไว้ในห้องหรือกักบริเวณระหว่างรอฝีหาย 

ควรทำการขังแมวระหว่างการรักษา อาจเป็นการขังในห้อง ในกรง ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เป็นระบบปิด เพื่อป้องกันได้รับเชื้อจากที่อื่นเพิ่ม การบาดเจ็บมากขึ้นระหว่างที่รอให้แผลสมานตัว และป้องกันการเปรอะเปื้อน จากหนองที่ไหลออกจากแผลในช่วงระยะนี้ จึงต้องทำการกักบริเวณน้องแมวไว้จนกว่าหนองจะหาย โดยบริเวณที่ให้น้องแมวอยู่ ควรเป็นพื้นที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย เช่น ห้องน้ำ ห้องซักผ้า หรือบริเวณที่มั่นใจในการให้น้องแมวอยู่ได้ โดยไม่ต้องห่วงเรื่องเลอะเปรอะเปื้อน และจะต้องเป็นบริเวณที่มีความอบอุ่นเพียงพอสำหรับน้องแมว โดยไม่ลืมเตรียมสิ่งจำเป็นไว้ให้น้องแมว เช่น อาหาร น้ำดื่ม กระบะขับถ่าย ผ้าห่ม หรือผ้านุ่ม ๆ ให้แมวนอน 

2. ใส่ถุงมือทุกครั้งเมื่อทำการดูแลแผลแมว 

เนื่องจากแผลของแมวจะมีหนอง เลือด แบคทีเรีย และของเหลวที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ จึงต้องใส่ถุงมือทุกครั้งที่จะดูแลหรือทำความสะอาดแผล เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่อน้องแมวและผู้ดูแล 

3. รักษาแผลให้สะอาดอยู่เสมอ 

ทำความสะอาดแผลแมวด้วยน้ำอุ่น ด้วยการหาเศษผ้าหรือผ้าขนหนูสะอาด ๆ ชุบน้ำอุ่น แล้วนำไปเช็ดหนองจากแผลของแมว ล้างผ้าและทำซ้ำ ๆ จนกว่าหนองหมดและไม่ไหลออกมาให้เห็นอีก และทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณแผลและที่หนองไหลด้วยผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช่นกัน เพื่อไม่ให้มีคราบสกปรกสะสม จนอาจเป็นที่เชื้อเชิญเหล่าแมลงต่าง ๆ มาตอมและหยอดไข่ในแผลได้ 

4. นำสะเก็ดน้ำเหลืองและสะเก็ดแผลออกด้วยความระมัดระวัง 

หากมีสะเก็น้ำเหลืองหรือสะเก็ดแผลอยุ่เหนือรูฝีที่ยังมีหนองข้างใน ให้ค่อย ๆ นำสะเก็ดนั้นออก โดยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นแล้วเช็ดบริเวณนั้นให้เปียก จนกว่าสะเก็ดอ่อนตัวและยุ่ยจนสามารถเช็ดออกได้ง่ายดาย แล้วใช้ผ้าเช็ดหรือซับบริเวรนั้นให้แห้ง อย่าปล่อยให้แผลและบริเวณรอบแผลเปียกชื้น หรือโทรสอบถามสัตวแพทย์เจ้าของไข้ในกรณีที่คุณไม่มั่นใจว่าสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง และสังเกตบริเวณฝีว่าบวมหรือไม่ การเช็ดสะเก็ดแผลออกจะทำให้สามารถเห็นอาการบวมแดงได้ง่ายขึ้น และถ้าเห็นว่ามีอาการบวมหรือมีหนอง ให้พาแมวไปสัตวแพทย์ทันที (ส่วนใหญ่ฝีจะใช้เวลาก่อตัวประมาณ 10-14 วัน) 

5. สอบถามสัตวแพทย์ก่อนใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 

อย่าเพิ่งใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์หากสัตวแพทย์ไม่ได้แนะนำ หรือถ้ามีอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว ก็ควรสอบถามสัตวแพทย์ก่อนใช้ ห้ามใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์โดยตัดสินใจเองเด็ดขาด เนื่องจากการใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์กับบาดแผลนั้น นอกจากจะทำให้เกิดความเจ็บปวดจนน้องแมวอาจทนไม่ได้ และอาจระแวงจนหมดความเชื่อใจในตัวเจ้าของแล้ว มันยังสามารถทำลายเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อจนอาจทำให้แผลหายช้ากว่าเดิมได้ ดังนั้น การใช้น้ำเปล่าหรือสารละลายฆ่าเชื้อพิเศษที่ทำจากน้ำและโพวิโดน-ไอโอดีน จะดีที่สุด  

แต่ในกรณีที่สอบถามสัตวแพทย์ว่าสามารถใช้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ได้ จะต้องมั่นใจว่าคุณเจือจางกับน้ำในอัตรา 1:1 จากนั้นใช้สำลีก้อนหรือผ้าก๊อซชุบ ก่อนนำไปเช็ดหนองและเนื้อตายรอบ ๆ ขอบแผลอย่างเบามือที่สุด โดยทำแบบนี้วันละ 2-3 ครั้ง ห้ามใช้ทาสารละลายนี้กับแผลโดยตรงเด็ดขาด 

6. ทำความสะอาดและเช็ดแผลสม่ำเสมอ 

หมั่นสังเกตบาดแผลน้องแมวบ่อย ๆ เพื่อคอยเช็คว่าแผลมีอาการบวมขึ้น หรือมีอาการบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ เพื่อจะได้โทรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์ได้ทันท่วงที และควรคอยเช็ดทำความสะอาดแผลของแมวบ่อย ๆ โดยคอยดูปริมาณของหนองที่ไหลออกมา เพราะหนองจะต้องค่อย ๆ ลดลง แต่ถ้าหากหนองไม่มีทีท่าจะลดลง หรือหนองมากขึ้นกว่าเดิมให้โทรหาสัตวแพทย์ทันที 

7. ป้องกันแมวไม่ให้เลียหรือกัดบาดแผล 

สิ่งสำคัญระหว่างการดูแลรักษาแผลแมวอีกอย่างคือ ไม่ให้แมวเลียหรือกัดแทะแผลหรือหนองที่ไหลออกมา เพราะแบคทีเรียในปากแมวสามารถทำให้แผลติดเชื้อได้ จึงควรใส่ปลอกคอกันเลีย ภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Elizabethan Collar (อลิซาเบท คอลล่า) อาจใช้คอลล่าแมวทำเอง หรือซื้อปลอกคอกันกัดจากเพ็ทชอปหรือคลินิกสัตว์ก็มีจำหน่าย หากไม่แน่ใจว่าจะใช้คอลล่าแมวแบบไหนดี สามารถสอบถามกับสัตวแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อจะได้สวมให้กับน้องแมวได้โดยไม่เกิดบาดแผล และไม่สร้างความรำคาญให้กับน้องแมวจนเกิดความเครียดได้ 

เคล็ดลับ 

หากพบเห็นว่าน้องแมวมีการกัดกัน ให้รีบตรวจดูว่าแมวมีบาดแผลใด ๆ หรือไม่ และเฝ้าสังเกตว่ามีอาการบวมหรือฝีหนองอย่างไร เพื่อจะได้รับพาแมวไปพบสัตวแพทย์ตรวจและให้ยาปฏิชีวนะทันที จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรงได้

Related posts
สูตรอาหารความรู้สุขภาพไลฟ์สไตล์

กินไข่ลวกตอนเช้าดีไหม ไข่ลวกมีประโยชน์อย่างไร พร้อมบอกวิธีทำไข่ลวก

ช่วงเวลาเร่งรีบในตอนเช้า ๆ…
Read more
ความรู้ข่าวสุขภาพอื่นๆเครื่องมือไลฟ์สไตล์

เบรกแล้วสั่นเกิดจากอะไร ทำยังไงให้พวงมาลัยหายสั่น

การขับขี่รถบนท้องถนนต้องใช้ความระมัดระวัง…
Read more
ความรู้สุขภาพเครื่องมือแฟชั่นไลฟ์สไตล์

เลือกโฟมล้างหน้าอย่างไรให้เหมาะกับสภาพผิวของเรา

“โฟมล้างหน้า” คือ…
Read more
Newsletter
Become a Trendsetter
Sign up for Davenport’s Daily Digest and get the best of Davenport, tailored for you.