เห็ดที่กินได้กับเห็ดพิษลักษณะคล้ายกันมาก หากทานเห็ดพิษเข้าไปอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย การเจ็บป่วยทั่วไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดพิษมีอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบทานเห็ด ยิ่งช่วงนี้เข้าสู่หน้าฝน ฤดูกาลของเห็ดนานาชนิด ยิ่งทำให้มีเห็ดพิษหน้าฝนเกิดขึ้นปะปนกับเห็ดที่กินได้ ผู้ที่ไม่รู้จักหรือเผลอกินเข้าไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะได้รู้วิธีสังเกตหากได้รับเห็ดพิษอาการเป็นอย่างไร หรือคนที่แพ้เห็ดอาการเป็นอย่างไร และถ้าเผลอกินเห็ดพิษแก้ยังไง จะได้ช่วยเหลือชีวิตได้ทัน เป็นการลดความเสี่ยงและการสูญเสียได้ไม่น้อยเลยทีเดียว
เห็ดพิษ คือ เห็ดที่มีอันตรายต่อร่างกาย โดยความรุนแรงของพิษขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และ วิธีการรับสารพิษ เช่น การกิน การสูดดม และ สัมผัส
อาการเมื่อได้รับสารพิษจากเห็ด
เห็ดพิษในไทยมีหลากหลายกลุ่มพันธุ์ด้วยกัน อันตรายและอาการของพิษจากเห็ดแต่ละกลุ่มก็มีความแตกต่างกันไป
- กลุ่มเห็ดที่สร้างสารพิษ Cyclopeptide มีพิษต่อตับ เช่น เห็ดระโงกหิน หรือ เห็ดไข่ตายซาก (Amanita verna or Amanita virosa) เมื่อได้รับพิษจะเกิดอาการ คลื่นเหียน อาเจียน ท้องร่วง ค่าเอนไซน์ตับจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้นจะมีอาการตับอักเสบ ไตวาย เลือดลิ่มแพร่กระจาย หัวใจวาย ชัก และ เสียชีวิตภายใน 6 – 10 วัน หลังจากที่ได้รับเห็ดพิษ
- กลุ่มเห็ดที่สร้างสารพิษ Monomethylhydrazine มีต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เห็ดสมองวัว (Gyromitra esculenta) โดยพิษจะออกฤทธิ์ภายใน 6 – 12 ชั่วโมง หลังจากได้รับสารพิษเข้าไป และเห็ดบางชนิดอาจมีพิษรุนแรงออกฤทธิ์ภายใน 2 ชั่วโมง อาการเมื่อได้รับพิษ คือ มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ เจ็บท้อง ท้องเสีย ในบางรายที่มีอาการรุนแรง จะมีไข้สูง ตับถูกทำลาย ชัก หมดสติ และ เสียชีวิตภายใน 2 – 4 วัน หลังจากทานเห็ดที่มีพิษชนิดนี้เข้าไป
- กลุ่มเห็ดที่สร้างสารพิษ Ibotenic acid-muscimol เช่น เห็ดเกล็ดดาว เมื่อทานเห็ดกลุ่มที่มีสารพิษชนิดนี้เข้าไป จะมีอาการคล้ายคนเมา คือ เดินเซ ร่าเริ่ง กระปรี้กระเปร่า ประสาทหลอน เพ้อฝัน หรือ เอะอะโวยวาย จากนั้นจะหลับเป็นเวลานาน และเมื่อตื่นขึ้นจะกลับคืนสู่สภาพปกติประมาณ 1 – 2 วัน หากถามว่ากินเห็ดทุกวันอันตรายไหม อาจไม่ถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต แต่จะส่งผลต่อสภาพจิตจนอาจชักและหมดสติได้
- กลุ่มเห็ดที่สร้างสารพิษ Coprine เช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดถั่ว (Coprinus atramentarius) หรือ เห็ดน้ำหมึก หากทานเห็ดที่มีพิษชนิดนี้เข้าไป พิษจะออกฤทธิ์ภายใน 5 – 30 นาที หลังจากทานเห็ดเข้าไป และถ้าหากมีการดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนที่จะกินเห็ดพิษชนิดนี้เข้าไป จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เกิดอาการ หน้าแดง ใจสั่น ตัวแดง หายใจหอบ เหงื่อแตก ม่านตาขยาย รู้สึกชาทั่วร่างกาย เจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตต่ำเนื่องจากหลอดเลือดขยายตัว แต่สามารถหายเป็นปกติภายใน 3 – 4 ชั่วโมง หลังจากเกิดอาการ
- กลุ่มเห็ดที่สร้างสารพิษ Muscarine คือ กลุ่มเห็ด Inocybe napipes ซึ่งจะแสดงอาการภายใน 30 นาที หรืออาจกินเวลาถึง 1 ชั่วโมง หลังจากที่ได้รับพิษจากเห็ดกลุ่มนี้เข้าไป โดยจะมีอาการหลอดลมหดเกร็ง มีเสมหะมาก อาเจียน น้ำลายฟูมปาก หัวใจเต้นช้า ม่านตาหดเล็กลง น้ำตาไหล ปัสสาวะและอุจจาระราด
- กลุ่มเห็ดที่สร้างพิษ Psilocybin คือ กลุ่มเห็ดที่มีผลต่อประสาทการรับรู้ เช่น เห็ดขี้วัว เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis) ทำให้เกิดภาพหลอน จึงถูกเรียกว่าเป็นเห็ดโอสถลวงจิต โดยจะแสดงอาการหลังได้รับเห็ดชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายประมาณ 30 นาที บางรายอาจภายใน 1 ชั่วโมง โดยจะมีอาการเคลิบเคลิ้ม เดินเซ หัวใจเต้นเร็ว ประสาทหลอน การรับรู้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง หายใจถี่ ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ระบบส่วนกลางถูกกระตุ้น เคลื่อนไหวมากผิดปกติ ลนลาน และอาจชักได้
- กลุ่มเห็ดที่สร้างพิษ Gastrointestinal Irritants คือ กลุ่มเห็ดพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เห็ดกรวดครีบเขียว เห็ดแดงน้ำ เป็นต้น โดยจะแสดงอาการหลังจากได้กินเห็ดพิษชนิดนี้เข้าไปภายใน 30 นาที หรือ อาจใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมงในบางราย อาการจะส่งผลกับช่วงท้องอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ จุกเสียดยอดอก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ท้องเสีย
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับสารพิษจากเห็ด
เมื่อได้รับสารพิษจากการกินเห็ดเข้าไป หากได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว จะช่วยบรรเทาความรุนแรงและลดการสูญเสียได้ เราจึงควรรู้วิธีการปฏิบัติตนหรือการให้ความช่วยเหลืออย่างถูกต้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจากที่พิษแพร่กระจายไปมากแล้ว การปฐมพบาบาลเบื้องต้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการและยืดเวลาระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาล
- ให้ผู้ป่วยอาเจียนเพื่อเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้ได้มากที่สุด
- ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมผงถ่าน 2 แก้ว เพื่อดูดซับพิษ โดยให้ดื่มแก้วแรกก่อน จากนั้นล้วงให้อาเจียนออกมาเสียก่อน แล้วดื่มน้ำถ่านแก้วที่ 2 และล้วงคอให้อาเจียนอีกครั้ง
- จากข้อที่ 2 หากผู้ป่วยไม่อาเจียน หรือ อาเจียนออกยากและน้อย ให้ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง ( 3 ช้อนชา) เพื่อช่วยให้อาเจียนได้ง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ
- รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด พร้อมกับตัวอย่างเห็ดพิษที่เหลือ (หากมี) หรือ อาจให้การปฐมพยาบาลระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลจะช่วยย่นระยะเวลาในการถึงมือหมอได้เร็วขึ้น
*ห้ามให้ล้างท้องด้วยการสวนทวารหนักด้วยตนเองเด็ดขาด