Site icon socarts.net | ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต ทางผม แฟชั่น สุขภาพ แต่งบ้าน…

ทำไมการพ่วงแบตเตอรี่ ห้ามต่อ “ขั้วลบ” กับ “ขั้วลบ”

The car battery of the automobile electrical system in the engine compartment for car maintenance and recycle electronics garbage

เมื่อรถแบตหมดสตาร์ทไม่ติด หรือแบตรถยนต์หมดระหว่างการเดินทาง การพ่วงแบตรถยนต์ คือ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผู้ขับขี่ยานพาหนะส่วนใหญ่เลือกใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เชื่อว่ายังมีผู้ใช้รถจำนวนไม่น้อย ที่ยังเข้าใจผิดในเรื่องของการพ่วงแบตเตอรี่อย่างไรให้ปลอดภัย วันนี้ทางแอดมินได้นำวิธีการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ที่ถูกต้องและปลอดภัยมาฝากกัน และเหตุผลที่ว่าทำไม ห้ามต่อ ขั้วลบ (-) กับ ขั้วลบ (-) เข้าหากันในการพ่วงแบตเตอรี่

แบตเตอรี่ คือ อุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานเคมีให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจ่ายไฟให้กับเครื่องยนต์ของรถทำงาน ทำให้รถวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายในแบตเตอรี่มีแผ่นธาตุบวกและธาตุลบ ซึ่งทำด้วยโลหะตะกั่ว (pb) และมีกรดกำมะถัน (H2SO4) ซึ่งทำหน้าที่เป็นอิเล็กโทรไลท์ (Electrolyte) เป็นปฏิกิริยาทางเคมีไฟฟ้าของ electrode กับ electrolyte จนเกิดเป็นกระแสไฟฟ้า และในขณะที่เกิดปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า จะเกิดแก๊สไฮโดรเจนขึ้นภายในแบตเตอรี่ จึงต้องมีรูระบายเพื่อให้ก๊าซดังกล่าวระเหยออกสู่ภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้แบตเตอรี่เกิดความเสียหายจากแรงดันและการเพิ่มจำนวนของก๊าซ 

ทำไมห้ามต่อขั้วลบ (-) กับ ขั้วลบ (-) เข้าหากัน ? เนื่องจากกระแสไฟจากแบตเตอรี่ลูกที่มีไฟ จะส่งไปยังแบตลูกที่หมดไฟ ทำให้น้ำกรดกำมะถันเดือด และเมื่อก๊าซไฮโดรเจนที่ระเหยออกมาตามรูระบายมาเจอกับประกายไฟ จะทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้ทันที แต่สามารถหนีบบริเวณชิ้นส่วนโลหะที่เครื่องยนต์ให้ห่างจากแบตเตอรี่อย่างน้อย 50 เซนติเมตรแทน 

วิธีพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ที่ถูกต้องและปลอดภัย 

ก่อนอื่นควรมีการเตรียมตัวก่อนพ่วงแบตเตอรี่ ด้วยการนำรถคันที่แบตเตอรี่มีไฟมาจอดใกล้กับรถคันที่แบตหมด จอดให้ห่างพอประมาณ อย่าให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวรถสัมผัสกัน โดยส่วนใหญ่จะจอดรถหันหน้าเข้าหากัน จากนั้นจึงดับเครื่องยนต์ ปิดระบบไฟที่ไม่จำเป็นภายในรถทั้ง 2 คัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบเครื่องเสียง ระบบปรับอากาศ ไฟส่องสว่าง เป็นต้น แต่ยกเว้นไฟฉุกเฉินเผื่อในกรณีที่จำเป็น เพื่อลดการใช้ไฟ และลดภาระเครื่องยนต์ให้มากที่สุด 

ขั้นตอนการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ 

  1. นำสายสีแดงคีบกับขั้วบวก (+) ของรถแบตหมด
  2. นำสายสีแดงคีบกับขั้วบวก (+) ของรถมีแบตเตอรี่
  3. นำสายสีดำคีบกับขั้วลบ (-) ของรถที่มีแบต
  4. นำสายสีดำคีบกับ กราวด์ (โครงโลหะเครื่องยนต์) ของรถหมดแบต โดยห้ามต่อเข้าขั้วลบเด็ดขาด และควรห่างจากขั้วลบอย่างน้อย 50 เซนติเมตร 
  5. สตาร์ทเครื่องยนต์รถแบตเตอรี่มีไฟ โดยสตาร์ททิ้งไว้ประมาณ 3 นาที 
  6. สตาร์ทเครื่องยนต์รถแบตเตอรี่หมด เร่งเครื่องเล็กน้อย 
  7. ถอดสายพ่วงแบตออก โดยเรียงตามลำดับจากข้อ 4 – 3 – 2 -1 

รถแบตหมดแบบไหนที่ไม่ควรจั๊มสตาร์ทรถยนต์

หากแบตรถหมดเพราะแบตเตอรี่เสื่อม หรือแบตหมดเพราะเผลอเปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้ สามารถพ่วงแบตได้ปกติ แต่กรณีที่แบตรถยนต์หมดเพราะไดชาร์จเสีย หรือมีไฟเตือนรูปแบตเตอรี่ขึ้นบนหน้าปัด วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ การเปลี่ยนแบตเตอรี่รถยนต์ โดยเรียกช่างให้นำแบตลูกใหม่ที่มีประจุไฟฟ้าเต็มมาเปลี่ยน และเมื่อสตาร์ทรถติดแล้ว ให้รีบขับรถเข้าอู่ เพื่อให้ช่างตรวจสอบหาสาเหตุและวิธีแก้ไขไม่ให้รถแบตหมดกลางทางอีก หรือจะเรียกใช้บริการยกรถเข้าอู่เลยก็ได้ เนื่องจากกรณีแบบนี้มักจะใช้วิธีพ่วงแบตไม่ได้ผล เพราะเครื่องยนต์จะติดเฉพาะช่วงที่ทำการจั๊มสตาร์ทเท่านั้น แต่เมื่อถอดสายพ่วงออก เครื่องยนต์ก็จะดับอยู่ดี 

อย่างไรก็ตาม อาจมีหลายคนเคยพ่วงขั้วลบแล้วไม่เกิดปัญหาใด ๆ หรือให้เหตุผลว่าสถานที่พ่วงแบตมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่มีการสะสมของก๊าซไฮโดรเจน และถ้าไม่ทำให้เกิดประกายไฟ ก็ไม่มีโอกาสที่จะทำให้แบตเตอรี่ระเบิดได้ แม้ว่าอาจจะเป็นเช่นนั้น แต่การไม่ประมาท และป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้ไขทีหลัง และอาจไม่คุ้มที่จะเสี่ยง 

Exit mobile version