เชื่อว่าผู้ขับขี่ยานยนต์หลายคนอาจไม่ได้สังเกต หรือไม่ทราบเรื่องตัวหนังสือต่าง ๆ ที่อยู่บนยางรถ เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะดูเฉพาะ เดือน ปี ที่ผลิต บนยางรถเมื่อนำรถไปเปลี่ยนยาง วันนี้แอดมินจะมาชวนรู้ตัวหนังสือ Treadwear บนแก้มยางรถยนต์คืออะไร และตัวเลขต่าง ๆ ที่ระบุไว้เส้นยางหมายถึงอะไรกันค่ะ
ตัวหนังสือ Treadwear บนแก้มยางรถยนต์คืออะไร
ปกติบนแก้มยางรถยนต์จะมีการระบุ Treadwear หรือ เทรดแวร์ ประกบด้วยตัวเลขต่าง ๆ เอาไว้ ซึ่งถูกเรียกว่า U.T.Q.G ซึ่งย่อมาจาก Uniform Tyre Quality Grading เป็นมาตรฐานการแบ่งเกรดคุณภาพยาง โดยตัวเลขเหล่านั้นบ่งบอกถึงความสึกหรอ ชนิดของยาง ความกว้างหน้ายาง ความสูงของแก้มยาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง พิกัดความเร็ว พิกัดน้ำหนักการบรรทุก และวันที่ผลิตยาง เช่น 200 , 260 , 350 , 400 หรือ 800 เป็นต้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกซื้อยางมีประสิทธิภาพ มีสมรรนะ เหมาะสมกับรถ และใช้งานได่อย่างปลอดภัย
อัตราค่า Treadwear สูง – ต่ำ ต่างกันอย่างไร
1. ยางที่มีค่า Treadwear สูง
ข้อดีของยางที่มีค่า Treadwear สูง คือ ยางมีอัตราการสึกหรอช้า จึงมีอายุการใช้งานได้นาน ช่วยยืดระยะเวลาในการเปลี่ยนยาง ไม่ต้องเปลี่ยนยางบ่อย ช่วยประหยัดค่ารักษาบำรุง เหมาะกับรถที่ต้องใช้งานหนัก หรือรถที่ต้องใช้ขับทางไกลเป็นประจำ
ข้อเสียของยางที่มีค่า Treadwear สูง คือ เนื้อยางมีความแข็งกระด้าง ไม่ค่อยเกาะถนน ยางมีเสียงดัง
2. ยางที่มีค่า Treadwear ต่ำ
ข้อดีของยางที่มีค่า Treadwear ต่ำ คือ เนื้อยางมีความนิ่ม ยึดเกาะถนนได้ดี ให้ความสัมผัสระหว่างถนนนุ่มนวลกว่า และไร้เสียงรบกวนขณะขับขี่
ข้อเสียของยางที่มีค่า Treadwear ต่ำ คือ ยางมีอัตราการสึกหรอเร็ว ทำให้ยางเส้นนั้นมีอายุการใช้งานสั้นลง ต้องเปลี่ยนยางบ่อยขึ้น
Uniform Tyre Quality Grade เป็นโครงการที่ถูกจัดตั้งโดยสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้กำหนดแบ่งเกรดคุณภาพยางรถยนต์ และใช้เป็นระบบสำหรับการให้ข้อมูลหลาย ๆ ด้านแก่ผู้ใช้ยางนั้น ๆ ซึ่งยางที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมไปถึงในประเทศที่อิงมาตรฐานสหรัฐอเมริกา จะต้องระบุเครื่องหมายตามมาตรฐาน UTQGS จึงจะสามารถนำไปขายในประเทศเหล่านั้นได้ โดยจะมีสัญลักษณ์ดังต่อไปนี้
1. Traction : ความสามารถในการหยุดบนทางเปียก
ความสามารถในการหยุดบนถนนเปียก โดยจะวัดกันภายใต้เงื่อนไขการควบคุมบนพื้นยางมะตอย และจะมีการทดสอบบนพื้นผิวคอนกรีต โดยจะวัดระดับ Traction จากสูงสุดไปต่ำสุด คือ AA – A – B – C โดย AA คือ ยางยนต์ที่ถูกจัดให้เป็นเกรดที่มีสมรรถนะดีในการเกาะถนนกว่าเกรดอื่น ๆ
2. Temperature : ความสามารถในการระบายความร้อน
ความสามารถในการระบายความร้อน แสดงความต้านทานของยางยนต์ต่อความร้อน จะทดสอบภายใต้เงื่อนไขที่ควบคุมในห้องปฏิบัติการ โดยจะวัดระดับจากสูงสุดไปต่ำสุด คือ A – C ซึ่งการเทียบประสิทธิภาพตามมาตรฐานความปลอดภัยสหพันธรัฐ ประสิทธิภาพต่ำสุด คือ เกรด C
3. Treadwear : อัตราการสึกหรอของยางรถยนต์
ค่า Treadwear จะใช้ในการดูอัตราการสึกหรอของยาง เนื้อยางนิ่มหรือแข็ง ประสิทธิภาพในการเกาะถนน ความนุ่มนวลในการสัมผัสพื้นผิวถนน เช่น ยางที่มีค่า Treadwear ต่ำกว่า 200 คือ ยางเนื้อนิ่ม เกาะถนนได้ดี แต่มีอัตราการสึกหรอเร็วกว่า ระยะการใช้งานได้สั้นกว่า และต้องเปลี่ยนยางบ่อยขึ้น
เลือกยางรถยนต์อย่างไรให้เหมาะกับการใช้งาน
สำหรับการเลือกยางรถยนต์ เพื่อการใช้งานทั่วไป สามารถเลือกค่า Treadwear ระดับ 200 – 300 เป็นค่าระดับกลาง ๆ แต่ถ้าเป็นรถที่ใช้งานหนัก หรือเป็นรถที่ถูกใช้ขับในระยะทางไกลเป็นประจำ ควรเลือกยางที่มีความทนทาน และมีอายุการใช้งานได้นาน ๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนยางบ่อย ๆ โดยเลือกยางที่มีค่าเทรดแวร์ ระดับ 400 ขึ้นไป แต่ต้องทำใจยอมรับในเรื่องของความกระด้างของยาง เกาะถนนน้อย ยางมีเสียงดังขณะขับขี่
นอกจากนี้ ประสิทธิภาพต่าง ๆ ของยางแต่ละรุ่น ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เจ้าของรถต้องพิจารณาควบคู่กันไป กับค่า Treadwear ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยาง โครงสร้างในการออกแบบยาง หรือลวดลายของดอกยาง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อจะเปลี่ยนยางรถยนต์ครั้งต่อไป อย่าลืมสังเกตค่ามาตรฐานเหล่านี้บนแก้มยางด้วย เพราะมันสัมพันธ์ต่อประสิทธิภาพและสมรรถนะของยานยนต์ และสำคัญต่อความปลอดภัยในการใช้รถยนต์ในทุกการเดินทางนั่นเอง