ข่าวดี!! เราจะมาอัพเดทธนาคารที่ทุกคู่รัก LGBTQ+ สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านกับธนาคารได้ แต่จะมีธนาคารอะไรบ้าง เรื่องดี ๆ แบบนี้ไม่ต้องร่ายทำนองให้ยืดยาว ไปดูกันเลย
รายชื่อธนาคารอนุมัติสินเชื่อ LGBT 2565
ธนาคารกสิกรไทย
สำหรับคู่รักที่อายุขั้นต่ำ 20 ปี ขึ้นไป และมีเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท จะได้วงเงินอนุมัติสูงสุด ไม่เกิน 90% ของราคาซื้อขายบ้าน
ธนาคารไทยพาณิชย์
ผู้กู้จะต้องมีอายุขั้นต่ำ 20 ปี ขึ้นไป วงเงินอนุมัตสูงสุด 100% ของราคาประเมินหลักประกัน
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ผู้กู้ซื้อบ้านจะต้องมีอายุขั้นต่ำ 30 ปี ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 65 ปี และเงินเดือนขั้นต่ำจะต้องไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท ไม่ระบุวงเงินสูงสุดที่อนุมัติ
ธนาคารยูโอบี (UOB)
อายุผู้กู้บ้านจะต้องไม่ต่ำกว่า 21 ปี รวมระยะเวลากู้ และจะต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำ 20,000 บาท โดยวงเงินที่อนุมัติสูงสุด สำหรับบ้านมือสอง อยู่ที่ 95-100% และ วงเงินสำหรับก่อสร้างบ้าน อนุมัติสูงสุดที่ 85%
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ผู้กู้เงินซื้อบ้านกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จะต้องมีอายุขั้นต่ำ 20 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ได้ระบุวงเงินสูงสุดที่อนุมัติ
ธนาคาร ธอส.
อีกสินเชื่อ LGBT ธอส.เปิดบริการ สินเชื่อบ้าน MY PRIDE สำหรับคู่รัก ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเท่ากับ MRR – 2.40%
ข้อควรรู้ที่คู่รัก LGBTQ+ ต้องการจะกู้ร่วมซื้อบ้าน มีอะไรบ้าง
เมื่อรู้รายชื่อธนาคารกันไปแล้ว ทีนี้ก็ต้องมาทำความเข้าใจและสำรวจก่อนว่าจะต้องเช็ค ต้องเตรียมอะไรบ้าง โดยเตรียมความพร้อมก่อนยื่น “กู้ร่วมสินเชื่อบ้าน” ดังนี้
- ความพร้อมทางสถานะการเงิน เพราะทุกธนาคารจะพิจารณาจากเงินเดือน รายรับ ภาระหนี้ และอายุของผู้กู้ จึงต้องมาเช็คและสำรวจให้ดีว่าตรงกับเงื่อนไขหรือไม่ จะได้ไม่เสียเวลาในการเดินทาง
- เตรียมเอกสารที่จะใช้ในการยื่นเรื่องกู้สินเชื่อบ้าน สำหรับคู่รัก LGBTQ+ เช่น เอกสารส่วนตัว เอกสารการเงิน เอกสารหลักทรัพย์ เป็นต้น
- รวบรวมหลักฐานที่แสดงถึงการเป็นคู่รัก แต่ถ้าไม่มีทะเบียนสมรส สามารถใช้เอกสารอื่น ๆ ที่สามารถยืนยันความสัมพันธ์ได้ เช่น เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกัน ทะเบียนบ้านที่อยู่ด้วยกัน ภาพถ่ายที่ระบุได้ว่าเป็นคู่รัก บัญชีเงินฝากร่วมกัน เอกสารกู้ร่วมซื้อทรัพย์สินร่วมกัน (ถ้ามี) หรือเอกสารที่ทำธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น โดยเอกสารจะต้องระบุระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี
เมื่อจะยื่นเรื่องกู้สินเชื่อสำหรับบ้านรักร่วมซื้อ จะต้องระบุในใบสมัครกู้สินเชื่อบ้านว่า ผู้กู้ร่วมความสัมพันธ์ในฐานะ คู่รัก กับผู้กู้หลัก อย่างชัดเจน
กู้สินเชื่อร่วมกันแต่เกิดเลิกกัน จะต้องทำอย่างไร
เมื่อทำการกู้สินเชื่อบ้านร่วมกันผ่าน และได้ทำการผ่อนไประยะหนึ่ง แล้วเกิดทะเลาะกัน หรือเลิกรากัน จะต้องทำอย่างไร
- ต้องการผ่อนต่อคนเดียว ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ต้องให้ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายเซ็นต์ยินยอม และผู้ที่กู้ต่อเพียงลำพังจะต้องผ่านการประเมินจากธนาคาร จึงจะสามารถผ่อนต่อคนเดียวได้จนครบ และจะกลายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สินทรัพย์นั้นแต่เพียงผู้เดียว
- กรณีต้องการผ่อนต่อคนเดียว แต่ไม่ผ่านการประเมินจากธนาคารผู้ให้สินเชื่อ จะใช้วิธีรีไฟแนนซ์ โดยเปลี่ยนชื่อของผู้กู้ร่วมให้เป็นชื่อคนในครอบครัวแทน
- หากไม่ได้แจ้งธนาคาร หรือไม่ได้รีไฟแนนซ์ แต่ผ่อนต่อคนเดียวจนครบกำหนด แต่กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์จะกลายเป็นของผู้ร่วมกู้ตั้งแต่แรกด้วย ดังนั้น หากต้องการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ควรแจ้งธนาคารตั้งแต่แรกดีที่สุด
- กรณีที่ไม่สามารถผ่อนต่อได้ทั้งคู่ หรือไม่ต้องการเก็บสินทรัพย์นั้นแล้ว ทำได้โดยการขายทรัพย์สินนั้นไป
- ควรทำประกันความเสี่ยงสินเชื่อบ้านไว้ เผื่อในกรณีที่ผ่อนต่อไม่ไหว บริษัทประกันจะช่วยในส่วนค่าใช้จ่ายเงินกู้ที่ค้างไว้ให้ และถ้าเหลือส่วนต่างจากการผ่อนบ้าน ก็สามารถมอบให้กับผู้รับผลประโยชน์ ที่ได้ระบุไว้ตอนทำประกันได้ด้วย
ศึกษาข้อมูล เช็ครายละเอียด เตรียมเอกสารพร้อม และพร้อมที่จะกู้สินเชื่อ LGBTQ+ ร่วมกันแล้ว ก็ลุยเลย เพราะไม่ว่าคู่รักเพศเดียวกันซื้อบ้าน หรือจะเพศใดก็ตาม การได้อยู่กับคนที่เรารักและคนที่รักเรา ก็ย่อมจะเป็นบ้านแสนสุขที่ใคร ๆ ต่างก็ปรารถนา จริงไหมคะ?