ข่าวเครื่องมือ

เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ควรทำอย่างไร

มีเหตุการณ์ไฟไหม้เกิดขึ้นในประเทศไทยบ่อยครั้ง โดยส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากระบบไฟฟ้า ไฟลัดวงจร ด้วยหลายปัจจัยด้วยกัน ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าไม่มีคุณภาพ หม้อไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด ใช้กำลังไฟเกินการรองรับของสายไฟ ฯลฯ ซึ่งเหตุการณ์ไฟไหม้แต่ละครั้ง ล้วนแต่สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินมากมาย อย่างเหตุการ์ไฟไหม้ล่าสุดที่สถานบันเทิง “MOUNTAIN B” อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 14 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากด้วยกัน ด้วยเป็นสถานที่แคบ ความมืด และประสิทธิภาพการควบคุมสติ จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่ควรจะเป็น 

วิธีหนีไฟไหม้ให้ปลอดภัย มีดังนี้ 

1. ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก 

เชื่อว่าใครหลายคนคงเถียงขาดใจ ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ใครก็คิดไม่ทัน ตกใจและตื่นกลัวทั้งนั้น ซึ่งเป็นจริงดังนั้นเลย เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อตื่นตกใจ จะควบคุมสติได้ยากกว่าปกติ บางคนก็มีพละกำลังมากจนสามารถยกโอ่งน้ำได้ หรือบางคนตระหนกตกใจกลัวทำอะไรไม่ถูก จนลืมที่จะวิ่งหนีออกไปจากที่เกิดเหตุ และผู้เสียชีวิตในเพลิงไหม้ ส่วนใหญ่ก็เนื่องจากไม่มีสติ ด้วยกลัวจนทำอะไรไม่ถูก ดื่มแอลกอฮอล์ หรือกำลังนอนหลับอยู่ จึงทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และถูกไฟคลอกตายอยู่ในกองเพลิง ดังนั้น สติจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับในการเอาตัวรอดในทุกสถานการณ์ เมื่อเกิดไฟไหม้ ให้กวาดตามองบริเวณโดยรอบ เพื่อหาอุปกรณ์ใช้ดับไฟและทางออกที่ใกล้ที่สุดและเร็วทึ่สุด 

2. ดับไฟอย่างถูวิธี 

หากเป็นกรณีที่สามารถดับไฟได้ ให้ดูสาเหตุของเหตุไฟไหม้ และดับให้ถูกวิธี หากเกิดจากน้ำมัน , ไฟฟ้า หรือไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด ให้หาผ้าห่มผืนใหญ่ๆ หนักๆ คลุมทับไฟให้ดับ ไม่ควรใช้น้ำดับไฟ เพราะอาจจะยิ่งทำให้ไฟปะทุมากขึ้น หรือไฟช็อตได้หากเป็นเพราะไฟฟ้า ถ้าหากได้กลิ่นแก๊สหรือกลิ่นเหม็นเหมือนแก๊ส ห้ามเสียบ-ดึงปลั๊กไฟ ห้ามเปิด-ปิดสวิทช์ไฟเด็ดขาด เพราะหากแก๊สรั่ว อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ 

หากไฟลุกลามไม่มาก ให้รีบหาอุปกรณ์ดับเพลิงและใช้ดับไฟให้เร็วทึ่สุด 

วิธีใช้ถังดับเพลิง : ดึงสลักตรงที่จับด้านบนออก จากนั้นชี้ปลายสายดับเพลิงไปที่ฐานกองไฟ โดยตัวผู้ฉีดดับเพลิงจะต้องอยู่ห่างจากกองไฟ 2-4 เมตร และฉีดจนกว่าไฟจะดับ 

แต่ถ้าประเมินสถานการณ์แล้วพบว่าไฟไหม้รุนแรง จนไม่สามารถทำดับไฟได้ และอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมาก ก็ไม่ควรใช้ถังดับเพลิง เพราะไม่เพียงพอที่จะดับไฟไหม้รุนแรงได้แล้ว แต่ให้รีบทำการหนีออกจากสถานที่นั้นโดยเร็วที่สุด 

3. รีบกดสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม ้

หากเกิดเหตุไฟไหม้ในตัวอาคาร ให้รีบมองหาปุ่มแดงข้างผนังที่เป็นปุ่มฉุกเฉิน รีบกดเพื่อแจ้งสัญญาณเตือนและขอความช่วยเหลือ หรือถ้าสถานที่นั้นไม่มีหรือหาไม่เจอ ให้โทรเบอร์ฉุกเฉิน 199 หรือ 1669 เพื่อแจ้งเหตุไฟไหม้และขอความช่วยเหลือ  

4. รีบออกจากที่เกิดเหตุโดยปกป้องตัวเองให้มากที่สุด 

เมื่อไฟไหม้ลุกลาม เริ่มมีควันมากขึ้น ไม่สามารถควบคุมเพลิงได้เอง และหลังจากโทรแจ้ง 199 แล้ว (เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถมาควบคุมสถานการณ์และทำการช่วยเหลือให้ได้เร็วที่สุด) ปิดประตูหน้าต่างในห้องที่เกิดเหตุให้สนิท เพื่อชะลอไฟไม่ให้ลุกลามได้เร็วระหว่างที่กำลังทำการหนีไฟ แล้วรีบอพยพตนเองและคนใกล้ชิดออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว เพราะยิ่งมีควันมากขึ้น จะยิ่งทำให้หมดสติและนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมเอาควันไฟเข้าสู่ร่างกาย และอย่ามัวแต่แวะเก็บสิ่งของด้วยความเสียดาย เพราะคุณไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าไฟจะลุกลามเร็วแค่ไหน หรือควันไฟอาจทำให้คุณหมดสติเสียก่อน และอีกสาเหตุที่ทำให้คนหนีออกจากอาคารที่ไฟไหม้ไม่ทัน ก็มาจากการมัวแต่แวะเก็บของ เพราะคิดว่าจะวิ่งออกมาทันนั่นเอง 

กรณีที่ติดอยูให้ห้องและมีไฟไหม้อยู่ด้านนอก ให้สัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากร้อนจนรู้สึกได้ ห้ามเปิดประตูทันที เพราะอาจทำให้เปลวไฟพุ่งเข้าหาทันที และไม่ควรเสี่ยงที่จะฝ่าเปลวไฟออกไป เพราะจะตกอยู่ในวงล้อมของกองเพลิงได้ แต่ให้ใช้วิธีการชะลอไฟลุกลามเข้าห้องด้วยการปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตูและช่องที่ควันไฟจะสามาถเล็ดลอดเข้ามาได้ แล้วร้องขอความช่วยเหลือที่ระเบียงหรือหน้าต่าง 

5. รีบหาทางออก

ให้ก้มตัวหรือคลานต่ำที่สุดในการเคลื่อนตัวไปยังทางออกหรือประตูหนีไฟ เพื่อไม่ให้สูดดมควันเข้าร่างกาย เพราะอากาศที่หายใจได้จะอยู่ที่ 1 ฟุตเหนือพื้น เมื่อมาที่บันไดหนีไฟได้แล้ว และมั่นใจว่าไม่มีคนตามหลังมา ให้ปิดประตูทันที ป้องกันไม่ให้ควันและไฟไหลตามออกมา 

6. สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเกิดไฟไหม้ 

  1. ห้ามใช้ลิฟท์ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างในลิฟท์จนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้ 
  2. หลีกเลี่ยงออกทางบันไดปกติ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟแลเปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม อาจทำให้คุณสำลักควันและหมดสติจนถูกไฟคลอกตาย แต่ให้ไปทางบันไดหนีไฟ เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ ลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย 
  3. ห้ามหนีเข้าห้องน้ำ เพราะคิดว่าน้ำจะช่วยดับไฟได้ แต่จริงแล้วน้ำในห้องน้ำไม่เพียงพอจะดับไฟไหม้ได้ ซึ่งหลังเกิดเหตุไฟไหม้หลายครั้งที่มักจะพบผู้เสียชีวิตในห้องน้ำ เพราะไม่มีปริมาณน้ำที่มากพอจะดับไฟ และหมดสติจากควันไฟจนถูกไฟคลอกตาย 
  4. ห้ามเข้าไปยังห้องหรือมุมอับของอาคาร อย่าง ห้องใต้ดิน เพราะจะยากต่อการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ 
  5. ไม่ขึ้นไปชั้นดาดฟ้า เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างสู่ด้านบน จะยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการไม่มีทางหนี หากประตูดาดฟ้าล็อค หรือเฮลิคอปเตอร์มาช่วยไม่ทัน ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพลงไปชั้นล่างหรือนอกอาคารได้
  6. ไม่แย่งกันลงบันได เมื่อเกิดเพลิงไหม้มักจะแย่ง ดัน และเบียดกันลงบันได ทำให้เกิดอุบัติเหตุล้มทับ หรือตกบันได จนอาจเกิดการบาดเจ็บ หรือหมดสติจนช่วยเหลือตนเองต่อไม่ได้ ดังนั้นควรเดินตามกันไปอย่างเป็นระเบียบ ประตูหนีไฟที่หนาๆและมีคุณภาพจะสามารถทนไฟไหม้ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 
  7. เมื่อออกจากตัวอาคารได้แล้ว ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดไฟไหม้อีกเด็ดขาด หากต้องการจะช่วยเหลือใครที่ยังติดอยู่ด้านใน ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า และพยายามแจ้งพิกัดหรือรายละเอียดให้ได้มากที่สุด เพื่อความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่และสามารถให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว 

วิธีป้องกันไฟไหม้

1. ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า และอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและพร้อมใช้งาน

2. เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 

3. ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเลิกใช้งานทุกครั้ง

เบรกเกอร์สามารถป้องกันไฟรั่ว ไฟไหม้ได้
ติดตั้งเบรกเกอร์เพื่อป้องกันไฟรั่ว

4. ควรติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟเพื่อช่วยป้องกันไฟฟ้ารั่วและอัคคีภัย 

5. ควรติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่เห็นเด่นชัด ปราศจากสิ่งกีดขวาง และควรให้ทุกคนรู้วิธีใช้ถังดับเพลิงเป็น 

6. ควรตรวจสอบถังก๊าซหุงต้มให้อยู่ในสภาพปลอดภัย และปิดวาล์วที่หัวถังทุกครั้งที่เลิกใช้งาน 

7. หน้าต่างที่ติดเหล็กดัดต้องมีช่องทางออกฉุกเฉินที่เปิดได้อย่างน้อย 1 บานทุกห้อง และสถานที่มีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก หรือเป็นสถานที่เที่ยวที่มักจะมีคนจำนวนมาก ควรจะมีทางออกฉุกเฉินมากกว่า 1 ประตู เพื่อป้องกันระยะทางไกลในการอพยพและความเบียดเสียดจากการแย่งกันออกจากอาคาร 

8. วัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงหรือติดไฟง่าย ต้องเก็บให้ห่างหรือติดตั้งให้อยู่ห่างจากความร้อนและเปลวไฟ 

9. เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษในวัตถุ อุปกรณ์ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟ เช่น ไม่ตั้งแก้วน้ำหรือภาชนะที่บรรจุน้ำใกล้กับปลั๊กไฟ  ดับธูป-เทียนให้สนิท 

10. จำหมายเลขโทรฉุกเฉิน หมายเลขสถานีดับเพลิง หรือติดไว้ในที่มองเห็นเด่นชัด 

วิธีเอาตัวรอดและการป้องกันเหล่านี้ หลายๆคนมักจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะคิดว่าเหตุไฟไหม้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และคงไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง จึงมักทำให้ประมาทหรือไม่ใส่ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นจริงๆ ก็ไม่มีใครสามารถช่วยเราได้นอกจากตัวเราเอง ดังนั้นการรู้ไว้และพยายามป้องกัน รวมไปถึงการฝึกซ้อมหนีไฟให้ร่างกายจดจำและชินกับการรับมือ เมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์จริงขึ้นมาจะได้มีสติและสามารถเอาตัวรอดได้เพราะสมองและร่างกายที่ทำได้เองโดยอัตโนมัติจากการผ่านฝึกซ้อมอยู่เสมอนั่นเอง 

Related posts
ความรู้ข่าวสุขภาพอื่นๆเครื่องมือไลฟ์สไตล์

เบรกแล้วสั่นเกิดจากอะไร ทำยังไงให้พวงมาลัยหายสั่น

การขับขี่รถบนท้องถนนต้องใช้ความระมัดระวัง…
Read more
ความรู้สุขภาพเครื่องมือแฟชั่นไลฟ์สไตล์

เลือกโฟมล้างหน้าอย่างไรให้เหมาะกับสภาพผิวของเรา

“โฟมล้างหน้า” คือ…
Read more
ความรู้อื่นๆเครื่องมือแฟชั่นไลฟ์สไตล์

ผ้าแบบไหนไม่ควรนำเข้าเครื่องอบผ้า ทำให้เกิดความเสียหาย และเป็นอันตรายได้

หลาย ๆ…
Read more
Newsletter
Become a Trendsetter
Sign up for Davenport’s Daily Digest and get the best of Davenport, tailored for you.