ภัยเงียบที่เป็นอันตรายถึงชีวิตมีหลายโรคด้วยกัน และหนึ่งในนั้นได้แก่ หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หรือ ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว อาการแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลัน ซึ่งนับวันก็มีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยสาเหตุนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงหรือเป็นนักกีฬาก็ตาม
ระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดจากอะไร
สาเหตุระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการแทรกซ้อนในผู้มีภาวะโรคประจำตัวแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือถูกกระตุ้นให้อาการกำเริบ ซึ่งมักจะเกี่ยวเนื่องกับ ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือ หัวใจวาย (Heart Failure) แล้วส่งผลต่อระบบการไหลเวียนโลหิต โดยเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้ทั่วถึง จึงส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงกระทันหัน นอกจากนี้ยังพบในผู้สูงอายุที่มักจะเกิดภาวะระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง หรือออกกำลังกายเป็นประจำด้วยเช่นกัน แต่อาจมีปัญหาระบบหัวใจตั้งแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว ไทรอยด์เป็นพิษ แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือมีปัจจัยภายนอกกระตุ้น เช่น การพักผ่อนไม่เพียงพอ สถาพอากาศ เป็นต้น
สาเหตุภาวะหัวใจล้มเหลวไม่ใช่ภาวะหัวใจหยุดเต้น แต่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดลดลง ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจากการพยายามบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้เป็นปกติ เมื่อหัวใจทำงานหนักบ่อย ๆ จนยืดและขยาย จึงค่อย ๆ อ่อนล้าและหมดแรงที่จะสูบฉีดเลือดได้อีกต่อไป
ภาวะระบบระบบหายใจไหลเวียนโลหิตล้มเหลว มักจะเป็นโรคร่วมที่เกิดขึ้นตามหลังโรคประจำตัว หรือจะเรียกว่าเป็นโรคเบื้องหลังที่ผู้ป่วยมีอยู่เดิม โดยกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย มักจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น
- โรคเบาหวาน
- โรคเกี่ยวกับหัวใจ
- โรคความดันโลหิตสูง
- ความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่งผลให้เลือดไหวเวียนไม่สะดวก
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้เต็มที่
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่อาจเกิดจากแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเอดส์ เป็นต้น
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานยาบางชนิด รับประทานเค็ม สูบบุหรี่ พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย
สังเกตอาการอย่างไร บ่งบอกว่าเสี่ยง ภาวะหัวใจล้มเหลว
เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว จะส่งผลกระทบให้เกิด ภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงและน่ากลัวมาก เพราะเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้ในทุกวัย โดยไม่มีสัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลวแจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่จะมีภาวะแทรกซ้อนหลังจากที่มีความรุนแรงของโรคที่พบได้ทั่วไป เช่น คือ เหนื่อยง่ายผิดปกติ แม้จะทำกิจกรรเบา ๆ ก็จะรู้สึกเหนื่อยไวขึ้น การขึ้น-ลงบันไดแทบไม่ไหว เดินได้ในระยะสั้นลง นอนราบลำบาก หายใจไม่สะดวก ท้องอืด และมีภาวะตับโต นอกจากนี้ยังมีอาการที่เฝ้าสังเกตได้ เช่น
- อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายผิดปกติ
- ท้องอืด
- ข้อเท้า เท้า หรือ ขาบวม
- เวียนศีรษะ หน้ามืดบ่อย
- ทำกิจกรรมเบา ๆ ก็รู้สึกเหนื่อยไวขึ้น
- เดินได้ในระยะที่สั้นลง
- เดินขึ้นบันไดแทบไม่ไหวและเหนื่อยเร็ว
- หายใจลำบากเมื่อนอนราบ
- ตื่นกลางดึกเพราะไอหรือหายใจลำบาก
- เข้าห้องน้ำบ่อยตอนกลางคืน
- มีภาวะตับโต
การป้องกันหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
การป้องกันเบื้องต้น คือ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว กลุ่มเสี่ยง และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว ควรทำการตรวจสอบร่างกายและสุขภาพสม่ำเสมอ ทำการเอ็กซเรย์ปอด ตรวจวัดคลื่นหัวใจไฟฟ้าเพื่อหาความผิดปกติของระบบหัวใจ การงดหรือเลิกสูบบุหรี่ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการรักษาอาการต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบจนไปกระตุ้นให้เกิด ภาวะหัวใจล้มเหลว และนำไปสู่ภาวะ ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว
นอกจากนี้ควรมีการพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หมั่นออกกำลังกาย และคอยสังเกตว่าเหนื่อยง่ายขึ้นไหม หายใจหรือมีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการผิดปกติหรือไม่แน่ใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยทันที จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเฉียบพลันและรักษาได้ทันท่วงที
เมื่อเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง
- เมื่อมีอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก ควรให้ผู้ป่วยนอนยกหัวสูง หรือนั่งตัวตรง หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก ให้อมยาอมไว้ใต้ลิ้น
- กรณีผู้ป่วยหมดสติ หรือไม่รู้สึกตัว ให้ผู้ป่วยนอนหงาย หรือนอนตะแคงข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก งดป้อนอาหาร น้ำ หรือยา แต่ให้ออกซิเจนแก่ผู้ป่วย แล้วรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน