ฤดูฝนมาเยือนอีกแล้ว หลายคนอาจชอบรรยากาศเย็นสบาย แต่หน้าฝนไม่ได้พามาแค่ความชุ่มฉ่ำ แต่ยังแฝงปัญหาที่น่าหนักใจ และยังสามารถสร้างความเสียหายให้กับบ้านแสนรักได้เช่นกัน หากไม่มีการเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ ยิ่งทั้งฝนทั้งลมที่พายุโหมเข้ามา ยิ่งต้องดูแลและใส่ใจคอยเช็คจุดเสี่ยงของบ้านให้ดี จุดไหนของบ้านบ้าง ที่จะต้องทำการตรวจเช็คให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้บ้านเสียหาย และไม่ให้เกิดอันตรายกับคนในบ้าน
ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้ารอบบ้าน
หน้าฝนทีไร เรื่องไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นอันดับต้นๆเลย เพราะมักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอ ตั้งแต่ปัญหา ไฟดับ ไฟช็อต ไฟดูด ไฟรั่ว ทำให้เกิดอันตรายกับสมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะปลั๊กไฟนอกบ้าน ที่เสี่ยงต่อการเปียกน้ำฝน หากน้ำฝนกระเด็นโดน รั่วซึม จึงควรหาฝามาครอบปลั๊กไฟไว้ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านี้เวลาฝนตก ก็คอยเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าและวงจรไฟฟ้ารอบบ้านอยู่เสมอ หากพบว่าอุปกรณ์ส่วนใดเก่า หรือชำรุด ให้รีบซื้อและเปลี่ยนตัวใหม่ทันที และต้องทำด้วยช่างไฟผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อผู้ทำการติดตั้ง และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน
ตรวจสอบหลังคาและฝ้าเพดาน
หากหลังคาหรือฝ้าเพดานรั่ว ความเสียหายย่อมเกิดมากกว่าที่คิดแน่นอน เพราะน้ำที่รั่วไหลลงมาในบ้าน จะไหลไปทำความโดนวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ในบ้าน ให้เกิดความเสียหาย ทั้งที่ซ่อมแซมได้ และซ่อมแซมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ควรตรวจสอบหลังคาและฝ้าเพดานอยู่เสมอ และควรทำก่อนถึงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ 100 % และป้องกันอุบัติเหตุที่อาจลื่นตกจากหลังคา เพราะรอยเปียกน้ำฝน ขณะทำการซ่อมแซมได้
ตรวจสอบรอยต่อวงกบ / บานประตู / หน้าต่าง
แม้ว่าเราจะปิดประตูและหน้าต่างอย่างมิดชิดแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำซึมเข้ามาได้ หากมีรอยร้าวจากผนัง หรือมีช่องโหว่ของรอยต่อวงกบ เพราะไม้อาจผุหรือปลวกกัดกิน จึงควรแก้ไขด้วยการนำยาแนวมาเซาะร่องตามรอยร้าวให้ทั่ว ปิดช่องโหว่แนวผนังและวงกบ เลือกใช้วัสดุในการทำบ้านด้วยไม้สังเคราะห์แทนไม้แท้ เพื่อป้องกันปลวกกัดกินจนสร้างความเสียหายให้ส่วนต่างๆ ของบ้าน
ตรวจสอบรางน้ำฝน ท่อระบายน้ำ
คอยดูอย่าให้มีขยะ เศษใบไม้ วัสดุ และสิ่งสกปรก ขวางการระบายน้ำ ท่อระบายน้ำควรมีฝาปิดให้แนบสนิท เพื่อป้องกันขยะต่างๆ ลงไปอุดตันในท่อ จนไม่สามารถระบายน้ำได้ ทำให้มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมได้
ตรวจสอบความลื่นของพื้นที่เปียก
พื้นที่เปียกน้ำแล้วลื่น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุกับสมาชิกในบ้านได้ ดังนั้น จะต้องทำการเช็คพื้นที่ที่โดนฝนสาด หรือพื้นรอบบริเวณบ้านที่เปียก ว่ามีความลื่นหรือไม่ นำผ้าหรือวัสดุกันลื่นมาปู หรือวางทับบริเวณนั้นไว้ หรือเลือกติดตั้งพื้นที่เหมาะสมในการติดตั้งในบ้าน และไม่มีความลื่นเมื่อเปียก เป็นการป้องกันอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดี
ตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์นอกบ้าน
หลายบ้านที่นิยมใช้เฟอร์นิเจอร์นอกบ้านเป็นไม้ ซึ่งเนื้อไม้หลายชนิดด้วยกัน ที่เมื่อเจอกับความเปียกชื้นบ่อยๆ จะทำให้ไม้บวม หรือซีด เก่า ผุพังได้ง่าย ควรเตรียมวัสดุกันน้ำคลุมไว้ หรือนำเก็บไว้ในที่มีหลังคาบังฝน หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายได้
ตรวจสอบแหล่งน้ำขังรอบบ้าน
อย่าให้มีแหล่งน้ำขัง น้ำท่วมรอบๆบริเวณบ้านเด็ดขาด เพราะจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และเป็นพาหะนำโรคร้ายมาสู่คนในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเศษแก้วแตก ถ้วยพลาสติก หรือถ้วย ควรเก็บทิ้งให้หมด หรือคว่ำไว้อย่าให้มีน้ำขัง ส่วนขารองโต๊ะ แจกัน ที่ต้องมีน้ำ ให้หยอดเกลือ หรือเบคกิ้งโซดาลงไป เพื่อไม่ให้มีลูกน้ำ
ตรวจสอบมุมอับบริเวณรอบบ้านให้ทั่ว
เพราะจะเป็นแหล่งกบดานของสัตว์เลื้อยคลาน หนู แมลง และ สัตว์มีพิษต่างๆ ที่หนีน้ำ มาอาศัยในมุมอับ ซอกอับ ดังนั้นควรเก็บข้าวของเก็บให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้ของรก อะไรที่ไม่ใช้แล้ว ควรนำไปบริจาค ขายมือสอง หรือให้รถซาเล้ง ทั้งได้กำจัด ได้เงิน หรือได้ให้เป็นประโยชน์กับคนที่นำไปใช้ได้ดีกว่า ปล่อยให้เป็นที่อาศัยสัตว์ที่ไม่ได้รับเชิญ ยิ่งถ้าเป็นสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ยิ่งไม่ปลอดภัย
ตรวจสอบต้นไม้ กระถางต้นไม้
สำหรับบ้านที่มีการปลูกต้นไม้ หรือมีไม้ใหญ่รอบบ้าน ควรคอยเช็คกิ่งไม้ ตัดแต่งกิ่งที่อันตรายออก เพราะเมื่อมีลมพายุ หรือลมแรง ฝนกระหน่ำ อาจทำให้กิ่งไม้หักโค่นลงมาทับตัวบ้าน สร้างความเสียหายให้กับบ้าน หรือเป็นอันตรายกับคนในบ้าน