ระบบเบรก เป็นอีกหัวใจของความปลอดภัยจากการใช้รถ เพราะหากระบบเบรกมีปัญหา หรือเบรกไม่ทำงาน ย่อมเสี่ยงอันตรายจากการเกิดอุบัติเหตุ จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแน่นอน เบรกรถจึงเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญที่จะต้องมีการดูแลรักษารถไม่แพ้แบตเตอรี่ ไดชาร์จ หรือเครื่องยนต์อื่น ๆ เลย
ดังนั้น เจ้าของรถจึงควรที่จะหมั่นเช็คสภาพรถเพื่อตรวจสอบความพร้อมของรถก่อนใช้งาน ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ แต่หลายคนอาจไม่แน่ใจว่า แล้วเจ้าน้ำมันเบรกจะต้องเปลี่ยนตอนไหน หรือจะเลือกใช้น้ำมันเบรกแบบไหนดี เพราะมีน้ำมันเบรกหลายชนิดเหลือเกิน
น้ำมันเบรกคืออะไร ทำหน้าที่อะไร และน้ำมันเบรกที่ดีควรเป็นอย่างไร
น้ำมันเบรกคือของเหลวชนิดหนึ่งที่เป็นน้ำมันไฮดรอลิค ทำหน้าที่หลัก ๆ อยู่ 2 อย่าง คือ ช่วยส่งถ่ายแรงจากเท้าเราที่เหยีบบไปยังคาลิเปอร์หรือลูกสูบปั๊มเบรกล่าง และช่วยหล่อลื่นในระบบเบรก โดยขณะที่เหยียบเบรกจะเกิดการเสียดสีกันระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรกซึ่งมีส่วนผสมของโลหะทั้งคู่ ทำให้เกิดความร้อนสะสม จึงควรเลือกน้ำมันเบรกที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อให้ระบบการทำงานภายในเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพ เนื่องจากความร้อนที่เกิดขณะที่ระบบเบรกทำงานจะทำให้น้ำมันเบรกเดือดเหมือนของเหลวทั่วไป หากเป็นน้ำมันเบรกไร้คุณภาพจะทำให้คุณสมบัติของน้ำมันไฮดรอลิคหายไป ไม่สามารถ่ายแรงไปยังคาริเปอร์ ส่งผลให้เบรกไม่ทำงานหรือเบรกแตกได้
เลือกอย่างไรให้ได้น้ำมันเบรกที่ดี
- น้ำมันเบรกมีจุดเดือดสูง ระเหยได้ยาก
- ทำหน้าที่เป็นสารหล่อลื่นที่ดีป้องกันการเสียดสี
- ทำหน้าที่เป็นตัวกลางถ่ายแรงจากแป้นเบรคสู่ระบบได้ดี
- มีความหนืดดีทั้งในอุณหภูมิร้อนและเย็นจัด
- ไม่กัดกร่อนชิ้นส่วนอะไหล่ในระบบเบรกที่เป็นโลหะหรือยาง
ประเภทน้ำมันเบรก
น้ำมันเบรกที่มีคุณภาพนั้นจะดูได้จากมาตรฐานที่รับรอง เช่น สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ของอเมริกา (SAE) , กรมการขนส่งของอเมริกา (Dot : Department Of Transportation) และ สมาคมกำหนดมาตราฐานระหว่างชาติ (ISO) โดย Dot คือ มาตรฐานน้ำมันเบรกที่คนไทยรู้จักและนิยมใช้มากที่สุด
ปัจจุบันมีน้ำมันเบรก 3 ประเภท คือ Dot 3 , Dot 4 และ Dot 5 แต่ก็ยังมีแยกย่อยลงไปอีก เช่น Dot 3 ธรรมดา Super Dot 4 หรือ Dot 5.1 เป็นต้น โดยรถยนต์ในเมืองไทยส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันเบรก Dot 3 , และ Dot 4 ในขณะที่ Dot 5.1 สำหรับ Super Car หรือ รถ Performance ระดับสูง
มาตรฐานน้ำมันเบรกชนิด Dot
น้ำมันเบรกประเภท Dot จะมีการแบ่งเกรดและกำหนดมาตรฐานของน้ำมันเบรกตามอุณหภูมิจุดเดือด 2 แบบด้วยกัน ได้แก่
- จุดเดือดแห้ง ปราศจากความชื้น (Dry Boiling Point) สำหรับน้ำมันเบรกที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน
- จุดเดือดเปียก มีความชื้นอยู่ในน้ำมัน (Wet Boiling Point) น้ำมันเบรกที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว มีการรดูดซับความชื้นไปแล้ว มี Dot 2 , Dot 3 , Dot 4 , Dot 5 และ Dot 5.1
น้ำมันเบรค Dot3 กับ Dot4 ต่างกันอย่างไร
น้ำมันเบรก Dot 3 มีจุดเดือดแห้ง 205 องศาเซลเซียส และ จุดเดือดเปียก 140 องศาเซลเซียส ในขณะที่ น้ำมันเบรก Dot 4 มีจุดเดือดแห้ง 230 องศาเซลเซียส และ จุดเดือดเปียก 155 องศาเซลเซียส ซึ่ง Dot ยิ่งมาก ยิ่งทนความร้อนได้สูง ซึ่งรถสมัยใหม่สามารถใช้แทนกันได้ เพราะเป็นเบสเดียวกัน แต่ในกรณีที่มีระบุในคู่มือรถว่าจะต้องใช้ Dot … เท่านั้น เนื่องจากหากนำน้ำมันเบรกที่ต่าง Dot ต่างยี่ห้อกัน มาผสมกัน อาจทำให้คุณสมบัติการทนความร้อนแย่ลง หรือทำให้ประสิทธิภาพน้ำมันเบรกลดลงนั่นเอง
น้ำมันเบรค Dot 3 กับ Dot 4 ผสมกันได้ไหม หรือใช้น้ำมันเบรค Dot 4 แทน Dot ได้หรือไม่
ไม่ควรผสมน้ำมันเบรก Dot 3 กับ Dot 4 เข้าด้วยกัน เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี ที่อาจส่งผลให้น้ำมันเบรกเสื่อมประสิทธิภาพ ทำให้ระบบเบรกทำงานไม่เสถียร หรือทำให้ชิ้นส่วนของลูกยางเบรกบวมหรือมีปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้
เมื่อไรที่ควรเปลี่ยนน้ำมันเบรก
- เบรกยากขึ้น
- เหยียบเบรกแล้วมีเสียงดังคล้ายโลหะเสียดสีกัน
- จานเบรกมีรอยแตก หัก ชำรุด
- น้ำมันเบรกมีสีคล้ำขึ้น หรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม
ควรเช็คระดับน้ำมันเบรกทุก 3 – 5 วัน หรือ สัปดาห์ละครั้ง เพราะทุกครั้งที่มีการใช้งานรถยนต์ และยิ่งมีการใช้เบรกมากเท่าไร น้ำมันเบรกจะยิ่งลดลง ดังนั้นไม่ควรมองข้าม และคอยเติมน้ำมันเบรกอยู่เสมอ หากพบว่าน้ำมันเบรกพร่องลงไปถึงขีด MIN และไม่ควรเติมเกินขีด MAX เพราะจะทำให้น้ำมันเบรกหกเลอะเทอะจนสร้างความเสียหายแก่เครื่องยนต์และอุปกรณ์อื่น ๆ ได้
อย่างไรก็ตามหากไม่มีความชำนาญ หรือไม่มั่นใจในการเลือกซื้อประเภทน้ำมันเบรกยี่ห้อไหนดี หรือได้เวลาที่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกหรือยัง การเลือกใช้ศูนย์บริการก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะทางศูนย์ ฯ จะให้บริการตรวจสอบสภาพรถและระบบเครื่องยนต์ต่าง ๆ ให้ครบ ตั้งแต่ช่วงบนไปจนถึงช่วงล่างรถ ทั้งการเปลี่ยนแบตเตอรี่ เช็คไดชาร์จ หม้อน้ำ ระบบเบรก หรือยางล้อรถ เรียกได้ว่าดูแลให้ครบ
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยทุกครั้งที่ใช้รถ ไม่ควรมองข้าม น้ำมันเบรก หมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ เพราะถ้าเมื่อไรเบรกมีปัญหา ความเสียหายที่ตามมาอาจมากกว่าที่คิด